ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

       ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี กำหนดแผนการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงแผนการพัฒนาการศึกษาของประเทศ หรือแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงและของสังคมและประเทษชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา โดยมีเป้าหมายใน 5 ด้าน ในด้านที่ 5 หรือการตอบโจทย์บริบทที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสะเต็มศึกษาเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หรือ STEM ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นนวัตกรรมการศึกษาแนวใหม่ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการคิดหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและการทำงาน

       สะเต็มศึกษาจะเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมทักษะที่จำเป็นครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านปัญญา ผู้เรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาและเชื่อมโยงกับการปฏิบัติจริงและการฝึกทักษะการปฏิบัติ 2) ด้านทักษะการคิด ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ และ 3) ด้านคุณลักษณะ ผู้เรียนสามารถมีทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม มีทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้เป็นอย่างดี

       จากบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกและการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 21 การจัดการศึกษาในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งสามารถแบ่งกระบวนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็น 3 องค์ประกอบ คือ ปัจจัย กระบวนการ และผลผลิต ดังแสดงในรูป ซึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือ ปัจจัยที่ 1 คือ ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) เป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ปัจจัยที่ 2 คือ ครู ซึ่งครูจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนการสอน จากผู้สอนเป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้ หรือผู้ช่วยเหลือการเรียน (Facilitator) และปัจจัยที่ 3 คือ ผู้เรียน เปลี่ยนจากผู้เรียน เป็นนวัตกร (Innovator) เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้แบบต่างๆ ตามความสนใจของผู้เรียน ให้เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนในแต่ละโรงเรียน และปัจจัยอื่นๆ


       จากความสำคัญของสะเต็มศึกษา และแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) การเปลี่ยนครูผู้สอนเป็นผู้ช่วยเหลือการเรียนรู้ (Facilitator) และการสร้างนักเรียนให้เป็นนวัตกร (Innovator) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จึงได้มีโครงการจัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษา (STEM Education Center) ขึ้น อยู่ภายใต้การดูแลของกองส่งเสริมวิชาการซึ่งทำหน้าที่ในการบริหารจัดการการพัฒนาระบบการเรียนการสอนรูปแบบสะเต็มศึกษา (STEM Education) ให้กับสถานศึกษาในเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ จำนวน 12 แห่ง ซึ่งการเรียนในรูปแบบนี้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การดำเนินงานทางด้านสะเต็มศึกษาจะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาครู นักเรียน/นักศึกษา ของสถานศึกษาสายสามัญ และสายอาชีพในเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล